วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551

คอนกรีตสำหรับงานโครงสร้างเปลือยผิว

จุดที่สำคัญของงานโครงสร้างเปลือยผิวคือต้องการผิวของคอนกรีตที่เนียนเรียบไม่มีรูพรุน โดยมีค่ากำลังอัดตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งในการผสมคอนกรีตให้มีคุณสมบัติดังกล่าว มีปัจจัยที่สำคัญดังนี้
1. มีปริมาณปูนซีเมนต์ที่เพียงพอเพื่อให้ได้ค่ากำลังอัดตามที่ต้องการ
2. มีปริมาณมอร์ต้าร์ (ปูนซีเมนต์ + ทราย + น้ำ) ที่เพียงพอที่จะเคลือบผิวคอนกรีต
3. คอนกรีตมีการไหลตัวที่ดีเพื่อซอกซอนเข้าไปตามช่องและมุมของไม้แบบ
4. ฟองอากาศมีการกระจายตัวสม่ำเสมอและมีขนาดเล็กเพื่อทำให้ผิวคอนกรีตเนียนเรียบสวยงาม
ในการผสมคอนกรีตที่หน้างานโดยปรับปรุงคอนกรีตสำหรับงานโครงสร้างทั่วไป สูตร 1:2:4 (โดยปริมาตร) ให้เหมาะสำหรับงานโครงสร้างเปลือยผิว ทำได้โดยปรับส่วนผสมให้มีมอร์ต้าร์มากขึ้นโดยเพิ่มปริมาณทราย ลดปริมาณหินลงในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยอาจจะปรับสูตรเป็น 1:2.25:3.75 หรือ 1:2.5:3.5 และหินที่ใช้ไม่ควรมีขนาดใหญ่มากนัก
ในการผสมให้คอนกรีตมีการไหลตัวที่ดีควรมีความข้นเหลว (Slump) ที่สูงเพียงพอ แต่ต้องไม่เหลวเกินไปจนทำให้คอนกรีตแยกตัว (หิน-ทรายตกตะกอนแยกตัวออกจากซีเมนต์) ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการไหลตัวของคอนกรีตเสียไป
สำหรับการทำให้ฟองอากาศกระจายตัว ทำได้โดยใส่สารกระจายฟองอากาศ ซึ่งในการผสมต้องมีการตวงปริมาณที่แน่นอน และมีการผสมให้กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าข้อกำหนดของงานไม่กำหนดให้ผิวของคอนกรีตเนียนเรียบมาก อาจจะตัดสารตัวนี้ออกไปได้
ในการเทคอนกรีตถึงแม้จะมีคอนกรีตที่มีส่วนผสมที่ดีแล้ว ต้องมีการเทคอนกรีตที่ดีด้วย โดยระหว่างการเทคอนกรีตต้องระวังไม่ให้คอนกรีตเกิดการแยกตัว มีการสั่นเขย่าคอนกรีตเพื่อให้คอนกรีตมีความแน่นตัวและไหลไปเต็มทั่วแบบหล่อ
และในการปรับส่วนผสมโดยเพิ่มปริมาณทรายและน้ำเข้าไปจะทำให้ค่ากำลังอัดของคอนกรีตลดลง แต่คอนกรีตสูตร 1:2:4 จะได้ค่ากำลังอัดประมาณ 300 กก./ตร.ซม. (Cube) ซึ่งถ้าค่ากำลังอัดที่ต้องการต่ำกว่า 300 กก./ตร.ซม. อาจจะใช้วิธีนี้ได้ อย่างไรก็ตามการจะรู้ค่ากำลังอัดที่แท้จริงจากการปรับส่วนผสมสามารถทำได้โดยการเก็บตัวอย่างแล้วส่งทดสอบในห้องทดสอบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: